Button Battery Ingestion

ได้มีโอกาสอ่านเปเปอร์รีวิวเรื่องการกลืน Button Battery (ถ่านกระดุม) เลยเอามาเล่าสู่กันฟังครับ

ถ่านกระดุม เป็นถ่านขนาดเล็กที่นิยมใช้ในอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์หลายชนิดในปัจจุบัน เราสามารถพบถ่านชนิดนี้ได้หลายที่ ที่ๆ พบบ่อยก็คือเครื่องช่วยฟัง, รีโมทคอนโทรล, ของเล่น, นาฬิกา, เทียนอิเลคทรอนิกส์, เครื่องชั่งน้ำหนัก, กุญแจรีโมท นอกเหนือไปจากนี้ ที่ๆ ยังอาจจะพบได้ก็เช่น ไฟฉาย, เครื่องคิดเลข, เครื่องวัดน้ำตาลในเลือด, เทอร์โมมิเตอร์ดิจิตอล, เครื่องเล่นเพลง และกล้องถ่ายรูป

ปัญหาของการกลืนกินถ่านกระดุมนั้นไม่ได้อยู่ที่สารที่อยู่ในถ่านกระดุมโดยตรง หากแต่เป็นปัญหาของกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะถ่านกระดุมที่เป็นถ่านลิเธียม เนื่องจากถ่านชนิดนี้มักมีความต่างศักย์สูง บริเวณขั้วลบของถ่านกระดุมเมื่อเข้าไปค้างอยู่ในเนื้อเยื่อของหลอดอาหาร จะทำให้เกิดครบวงจรไฟฟ้า (หลอดอาหารมีน้ำลาย ซึ่งนำไฟฟ้า) และเกิดไอออนของไฮดรอกไซด์ (OH-) สะสมที่ผนังหลอดอาหารที่ขั้วลบ ซึ่งไอออนนี้ที่มีความเป็นเบสสูงนี่เอง จึงทำการกัดกร่อนผนังของหลอดอาหารที่ถ่านกระดุมไปติดอยู่ ทำให้เนื้อเยื่อของหลอดอาหารตาย โดยเฉพาะถ่านที่มีความต่างศักย์เหลือในตัวถ่านมากกว่า 1.2 โวลต์ในตอนกลืนทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้โดยง่าย

นอกจากนี้ถ้าถ่านกระดุมหลุดไปได้ ไม่ติดอยู่ที่เดียว ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์กัดกร่อนของเนื้อเยื่อเกิดขึ้นนี่เอง (เป็นเหตุว่าทำไมจึงไม่ต้องทำอะไรถ้าถ่านมันไม่ได้ไปติดที่ไหน อึออกมาปกติ)

เมื่อมีเด็ก (หรือผู้ใหญ่) ที่เราสับสนว่ากลืนถ่านกระดุมหรือไม่ ในทางปฏิบัติแนะนำให้ทำการ X-ray เพื่อดูว่าลักษณะของภาพที่ได้เข้ากับถ่านหรือเปล่า โดยลักษณะของ X-ray ที่พบในถ่านกระดุม มักจะมี ขอบกลม (double ring or halo sign) ต่างจากเหรียญที่ไม่มีลักษณะนี้ นอกเหนือจากนี้การ X-ray ในท่า Lateral ก็อาจจะบอกได้ว่าขั้วลบของถ่าน (ขอบที่เล็กกว่าอีกด้าน) หันไปทาง Trachea หรือ Spine

ในการรักษาถ่านกระดุมติดบริเวณหลอดอาหาร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเอาออก โดยใน Guideline ฉบับปัจจุบันแนะนำให้เอาออกโดยเร็ว หากเป็นไปได้ก็ควรจะภายในสองชั่วโมง เนื่องจากถ้าเอาออกช้า อาจจะเกิดความเสียหายต่อหลอดอาหารได้มาก แนวทาง Guideline นั้นสามารถดูได้จากตัวเปเปอร์ฉบับเต็มครับ

นอกเหนือไปจากนี้ การป้องกันไม่ให้เด็กหยิบถ่านมากลืนได้โดยง่ายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ปัจจุบันตามมาตรฐาน ANSI/UL60065 ในอุปกรณ์ที่ใช้ถ่านกระดุม การเปิดออกเพื่อเจอถ่านนั้นจะต้องอาศัยการขยับที่เปิดสองครั้ง จึงจะถึงตัวถ่าน และในสหรัฐยังมีความพยายามในการผลิตถ่านที่ต้องอยู่ในรังถ่านเท่านั้นถึงจะมีกระแสไฟฟ้าได้ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากถ่านใหม่ก็จะเข้ากันไม่ได้กับรังถ่านแบบเดิมๆ ครับ

ที่มา: Jatana KR, Litovitz T, Reilly JS, Koltai PJ, Rider G, Jacobs IN. Pediatric button battery injuries: 2013 task force update. International journal of pediatric otorhinolaryngology. http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0165587613002851#gr1

รีวิวเกม The Last of Us

เกม The Last of Us เป็นอีกเกมที่ผมรอเล่นตั้งแต่เริ่มได้ข่าวเกมนี้เลยครับ เพราะว่าดูจากวิดีโอเปิดตัวแล้ว กราฟฟิคสวยงามมาก ดูแล้วน่าติดตาม โดยเฉพาะผมชอบเล่นเกมแนวๆ Survival Horror คล้ายๆ แบบนี้อยู่แล้วด้วยครับ (เกมนี้ Exclusive สำหรับ PS3 โดยเฉพาะครับ ไม่ทำลงแพลตฟอร์มอื่น)



เกมนี้เป็นเกมแนว Stealth - Action มุมมองบุคคลที่ 3 ครับ ส่วนของเนื้อเรื่องจะเป็นประมาณโลกหลังจากที่เกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้น ทำให้คนที่อยู่บนโลกส่วนใหญ่กลายเป็นซอมบี้ แต่พระเอกของเรารอดมาอยู่ได้ ทำให้เราต้องหาหนทางในการมีชีวิตรอดต่อไปครับ (พล็อตแบบนี้ จริงๆ ก็เจอบ่อยๆ ในหนังซอมบี้ทั่วๆ ไปน่ะนะ)

เรื่องที่เป็นที่น่าชื่นชมอย่างมากของเกมนี้คือกราฟฟิกครับ ผมว่าเกมนี้เป็นเกมที่รีดความสามารถของเครื่อง PS3 ได้อย่างเต็มที่เกมหนึ่งเลยครับ (มันคงไม่มีเกมที่สวยมากไปกว่านี้แล้วหละ เพราะเกมสวยๆ คงจะหนีไปอยู่บน PS4 ที่เปิดตัวและเตรียมวางขายกันไปหมด) ฉากแต่ละฉากดูสวยงาม และกราฟฟิคเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ป้ายประกาศเก่าๆ ในเมืองร้าง ป้ายแสดงราคาอาหาร หนังสือพิมพ์ที่วางไว้บนโต๊ะ ข้อความที่ถูกเขียนอยู่บนไวท์บอร์ด (ซึ่งพวกนี้จริงๆ ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเนื้อเรื่อง) ก็สามารถที่จะอ่านได้เกือบทุกอัน นอกจากนี้ลม น้ำ สิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็ดูเสมือนจริงทีเดียวเลยครับ เรียกได้ว่า กราฟฟิคช่วง Gameplay ของเกมนี้อาจจะดีกว่า cinematic ของเกมบางเกมเสียเลยด้วยซ้ำ



นอกจากการมีกราฟฟิคที่สวยงามแล้ว เกมยังจะทำให้เรามี "อารมณ์ร่วม" ด้วยฉากแอคชั่นที่ค่อนข้างเร้าใจ และจอยที่สั่นถูกเวลา ผนวกกับระบบเสียงที่คมชัดและเหมาะสมกับสถานการณ์ เช่นเสียงกระจกแตก เสียงระเบิด ทำให้เรารู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกันกับตัวเกมเหมือนกันกับนั่งดูหนังอยู่ และลุ้นว่าพระเอกจะรอดได้ไหม ลุ้นว่าศัตรูจะมาทำร้ายเราหรือไม่ครับ

ส่วนของวิธีการเล่นพูดง่ายๆ คือเกมจะมีเป็นฉากๆ ในแต่ละฉากเราต้องทำตัวหลบๆ ซ่อนๆ ใต้โต๊ะบ้าง เค้าน์เตอร์บ้าง หลังกล่องบ้าง ตามซอกมุมอาคารบ้าง เพื่อที่จะหนีให้พ้นจากสายตาของศัตรูครับ ส่วนใหญ่ตัวเกมจะมีเป้าหมายของแต่ละด่านคือต้องเดินผ่านไปยังฉากต่อไปให้ได้ โดยเราอาจจะใช้วิธีค่อยๆ หลบศัตรูไปยังฉากต่อไปก็ได้ หรือว่าจะฆ่าศัตรูให้จนหมดทั้งฉากเลยก็ได้ครับ แต่ด้วยข้อจำกัดที่เกมบีบบังคับกระสุนปืนและอาวุธเสริมให้มีอยู่น้อยมากๆ (บางทีก็แทบไม่มีกระสุนติดตัวเลยทีเดียว) ทำให้ส่วนใหญ่เราต้องอาศัยการหลบๆ ซ่อนๆ แล้วค่อยๆ ลอบบีบคอศัตรูทีละตัวแบบไม่เสียกระสุนมากกว่า นอกจากนี้เรายังสามารถหยิบของใกล้ตัวคือก้อนอิฐ มาปาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของศัตรูได้ครับ


ศัตรูก็มีความฉลาดในระดับหนึ่งครับ เช่น ถ้าเห็นเราก็จะเรียกเพื่อนๆ เข้ามารุม หรือว่าถ้าเห็นศพเพื่อนศัตรูด้วยกันก็จะกระจายกำลังออกค้นหาว่าเราอยู่ตรงไหนด้วย

แต่ไม่ต้องกังวลว่าการหลบๆ ซ่อนๆ นั้นจะยากครับ เพราะในเกมนี้ฉากแต่ละฉากค่อนข้างจะใหญ่ถึงใหญ่มากๆ ทำให้มีที่ว่างๆ ให้เราไปซ่อนได้เยอะ ถึงแม้จะมีศัตรูมาเจอเรา แต่เราก็สามารถจะ วิ่งๆๆ แล้วก็ไปหลบตรงมุมไกลๆ ของฉาก แล้วค่อยย่องกลับมาใหม่ได้ครับ

นอกจากความยากในส่วนของกระสุนที่มีอยู่จำกัด ทำให้เราต้องใช้วิธีหลบๆ ซ่อนๆ แล้ว เกมยังกดดันให้ศัตรูบางประเภท สามารถที่จะกัดเราตายได้ในทีเดียวเลยครับ ทำให้เราจะต้องระมัดระวังกับศัตรูประเภทนี้เป็นพิเศษ

ส่วนเรื่องเนื้อเรื่องของเกม ถึงจะไม่ได้จบหวือหวาหรือหักมุมมากเหมือนอย่าง Bioshock Infinite แต่เกมนี้เล่นจนจบแล้วให้อารมณ์ของการดูหนังมากๆ ครับ ตัวละครแต่ละตัวมีที่ไปที่มาอย่างชัดเจน และบทพูดก็ไม่ได้เนิบนาบ หรือเร่งให้เนื้อเรื่องดำเนินเร็วจนเกินไปครับ

สรุปสิ่งที่ชอบในเกมนี้
  • กราฟฟิคสวยงาม
  • ระบบการเล่นที่ค่อนข้างเปิด ไม่ต้องฆ่าศัตรูจนหมดทุกตัว
  • ระบบเสียง
  • เนื้อเรื่องวางได้ดี บทต่างๆ ดี และน่าติดตาม
สรุปสิ่งที่ไม่ค่อยชอบในเกมนี้
  • ยังมีบั๊กในเกมเล็กน้อยครับ ผมลองเดินเล่นๆ บางทีเดินไปอยู่กลางลังเก็บของซะอย่างนั้น นอกจากนี้บางทีศัตรูก็ทำเป็นไม่เห็นเพื่อนเราที่บังอยู่หน้าศัตรูเลยซะอย่างนั้น ทำให้รู้สึกแปลกๆ

(c) Copyright 2015 Pawin Numthavaj. Powered by Blogger.