เปิดกระเป๋ายาเวลาหมอไปเที่ยว เอาอะไรติดตัวไปบ้าง

ผมสังเกตว่าช่วงนี้มีหลายเว็บที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวแนะนำในเรื่องของการพกยาไปเที่ยวว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง แต่คำแนะนำนั้นส่วนมากไม่รู้ว่ามีที่มามาจากไหน และก็ไม่รู้ว่าคนที่แนะนำเนี่ยเป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงหรือเปล่า ผมเลยคิดว่าในฐานะที่ผมเองก็เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้คำแนะนำคนไข้มาประมาณนึงแล้วก็ชอบเที่ยวด้วย น่าจะเขียนไว้ว่าเวลาผมเที่ยวเองนั้นผมเตรียมยาอะไรบ้างครับ


โดยส่วนมากแล้วผมเองไม่ได้มีโรคประจำตัวอะไรสลักสำคัญมากนัก ถ้าใครมีโรคที่แพทย์แนะนำให้เตรียมยาแล้วละก็อย่าลืมที่จะเตรียมยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำไปด้วยนะครับ โรคประจำตัวอย่างความดันโลหิตสูง เบาหวาน ถึงเราจะไปเที่ยวเราก็ควรจะควบคุมโรคที่เป็นอยู่ให้ดีนะครับ ตอนกลับถึงบ้านโรคจะได้ไม่กำเริบไปมากกว่าเดิมให้หมอที่ดูอยู่บ่นให้หูชา

ยาและเวชภัณฑ์ที่ผมเตรียมไปเรียงดังต่อไปนี้ครับ




  1. Paracetamol (ชื่อยี่ห้อคือ Sara, Tylenol, Para GPO ฯลฯ) แน่นอนว่าเป็นยาที่ทุกคนรู้จักดี ไว้แก้ปวดหัวนิดๆ หน่อยๆ หรือเริ่มๆ จะมีไข้นะครับ ปัจจุบันแนะนำให้กินแค่ 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด (กิน 2 เม็ดนี่ต้องอ้วนมากเป็นร้อยกิโลจริงๆ เพราะยาคิดตามน้ำหนักตัว, กินเยอะๆ มากเกินเหตุอาจจะทำให้ตับวายได้ครับ) กินถี่ที่สุดได้ 4 ชั่วโมงครับ และก็ไม่ควรกินติดต่อกันเป็นสัปดาห์ ซึ่งถ้าต้องกินขนาดนั้นกลับบ้านเหอะไม่ต้องเที่ยวต่อแล้ว
  2. ยาแก้อาการอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-inflammatory Drug) เป็นกลุ่มของยาลดอาการอักเสบ ซึ่งเน้นในการอักเสบของกล้ามเนื้อครับ (ยาแก้อักเสบ ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อนะครับ) อันนี้เจอมากับตัวเวลาเดินเยอะๆ แล้วปวดขามาก กิน Paracet บางทีเอาไม่อยู่ครับ ยาในกลุ่มนี้สามารถใช้ลดไข้สูงได้ด้วยครับ แต่ส่วนมากผมกินพาราไข้ก็ลงทุกครั้งเลยนะ คุณผู้หญิงเองก็กินแก้ปวดประจำเดือนได้ครับ ข้อเสียของยาในกลุ่มนี้คือมันกัดกระเพาะครับ ไม่ควรทานตอนท้องว่างนะครับเดี๋ยวจะปวดท้องหรือเป็นแผลในกระเพาะครับ ยาในกลุ่มนี้ยกตัวอย่างเช่น

    1. Diclofenac (ชื่อทางการค้า Voltaren) ขนาดสำหรับทานเป็นเม็ดละ 25 มิลลิกรัม ทานถี่สุดคือเช้ากลางวันเย็นครับ เม็ดละห้าสิบสตางค์ (ราคาที่รพ.รัฐขาย)
    2. Ibuprofen (ชื่อยี่ห้อคือ Brufen) ขนาดสำหรับทานเม็ดละ 400 มิลลิกรัม ถี่สุดเช้ากลางวันเย็นเหมือนกัน เม็ดละบาท
    3. Arcoxia, Celebrex พวกนี้เป็นยาราคาแพงครับ เม็ดละสี่สิบห้าสิบบาท ส่วนมากผมไม่ค่อยได้ใช้เองเพราะมันเปลือง ไม่ได้ออกฤทธิ์แก้ปวดมากกว่า Diclofenac หรือ Ibuprofen เท่าไหร่หรอก
    4. Mefenamic Acid ชื่อนี้อาจดูไม่คุ้นสำหรับบางคน แต่จริงๆ มันคือยาที่ขายกันในชื่อการค้า Ponstan ไว้แก้ปวดประจำเดือนนั่นแหละครับ จริงๆ มันก็เหมือนกับยาในกลุ่ม คือจะเอามากินแก้ปวดเมื่อยก็ได้ หรือจะเอาตัวอื่นไปกินแก้ปวดประจำเดือนแทนก็ได้
    5. ซึ่งยาพวกนี้ปกติผมจะพกไปแค่ชนิดเดียวครับ (ตัวที่ชอบคือ Ibuprofen)
  3. ยาแก้ปวดท้องโรคกระเพาะ ผมเองเป็นคนที่ปวดท้องบ่อยๆ และบางที่ก็ท้องอืดเวลากินน้ำอัดลมเยอะๆ ครับ ส่วนมากผมก็จะพกยากระเพาะติดตัวไปด้วย ซึ่งผมแยกออกเป็น
    1. ยาน้ำสำหรับแก้ท้องอืดหรือปวดท้องเบื้องต้น ส่วนมากพวกนี้มักเป็นยาน้ำ ที่ผมใช้บ่อยๆ ก็ Alum Milk ราคาก็ขวดละสิบห้าบาทครับ ถ้าอยากหรูหราหน่อยก็พกพวก Gaviscon ไปก็ได้ มันมีแบบซองด้วย แต่ผมว่ามันแพงไปหน่อย
    2. ยาสำหรับโรคกระเพาะ ผมเองเคยเป็นโรคกระเพาะครับเลยติดเอาไปด้วย พวกนี้ก็เช่น Omeprazole (ชื่อทางการค้า Miracid), Lanzoprazole, Esomeprazole ฯลฯ ส่วนตัวผมใช้ Omeprazole เพราะมันเม็ดละบาท
  4. พลาสเตอร์ปิดแผล เบตาดีนใส่แผล สำลีพันปลายไม้ (Cotton Buds) อันนี้ผมได้มีโอกาสใช้บ่อยเลยครับ เวลาเราไปเที่ยวบางทีเราก็ไม่ค่อยจะระวังตัว เดินลื่นบ้าง เผลอเอามือไปเกี่ยวกิ่งไม้หรืออะไรคมๆ บ้าง อุปกรณ์ในการทำแผลผมว่ามีความจำเป็นอย่างมากครับเวลาเป็นแผล ถ้าเกิดเป็นแผลขึ้นมาแนะนำให้ล้างแผลก่อนด้วยน้ำสะอาดครับ น้ำก๊อกก็ได้ หลังจากนั้นซับแผลด้วยทิชชู่เบาๆ ให้แห้ง ถ้าเลือดออก ให้กดไว้สักห้านาทีจนเลือดหยุด แล้วค่อยทาเบตาดีน (ถ้ากดนานแล้วเลือดไม่หยุด หรือแผลกว้าง อาจจะต้องไปโรงพยาบาลแล้วเย็บแผลนะครับ) สิ่งที่แนะนำคือตัวเบตาดีนนี่ต้องหาซองซิปล็อกมาใส่ดีๆ นะครับ ไม่งั้นมันจะหกอยู่ในกระเป๋าเดินทางนั่นแหละแถมซักไม่ออกอีกตะหาก ผมหกมาหลายรอบแล้วครับ
  5. ยาบรรเทาอาการน้ำมูก ยาแก้แพ้
    อันนี้ผมขอแนะนำก่อนครับ ว่ายากลุ่มนี้จะมีอยู่ด้วยกันสองอย่าง
    1. ยาลดน้ำมูก (Decongestant) พวกนี้ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งไม่ให้น้ำมูกไหลครับ ไม่ว่าคุณจะเป็นภูมิแพ้หรือไม่เป็นภูมิแพ้ ก็สามารถทานได้ถ้ามีน้ำมูกเยอะ เช่นตอนเป็นหวัด ยากลุ่มนี้เช่น
      • Pseudoepherine (Maxiphed, Sudafed)
      • Phenylephrine
      • Oxymethazoline ตัวนี้มีแต่แบบพ่นไปในจมูกครับ และต้องสั่งโดยแพทย์
        แต่ต้องระวังเพราะยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มควบคุม บางประเทศเช่นญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้เอายาในกลุ่มนี้เข้าประเทศครับ
    2. ยาแก้แพ้ (Antihistamine) พวกนี้ออกฤทธิ์โดยการต้านอาการแพ้ (อาการแพ้คืออาการที่ร่างกายตอบสนองกับสารกระตุ้นให้แพ้มากเกินปกติ) พวกนี้ถ้าสาเหตุของอาการไม่ได้เกิดจากการแพ้ (แพ้ที่จมูกเช่น คันจมูก แพ้ที่ผิวหนังเช่น คันผิวหนังเป็นผื่นลมพิษ) มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรมีแต่จะง่วงนอน ยาในกลุ่มนี้มีเยอะมากครับ แต่ใครที่เป็นภูมิแพ้คงรู้จักดีอยู่แล้ว เช่น Chlorpheniramine, Cetirizine, Loratadine, Levocetirizine, Desloradatine, Fexofenadine ครับ

      หลายๆ คนคงมีน้ำมูกง่ายหรือบางคนมีอาการแพ้โดยเฉพาะเวลาไปเจอควันหรือที่อับๆ ยิ่งถ้าคุณเป็นภูมิแพ้อยู่แล้วผมว่ายาลดน้ำมูกและยาแก้แพ้สำคัญครับ รวมถึงเวลาที่ถ้าจะต้องขึ้นเครื่องแล้วดันมีน้ำมูกเยอะ อาจจะทำให้มีอาการปวดหูเวลาเครื่องบินลงได้ครับ แล้วจะไม่สนุกเลย ในฐานะของหมอหูคอจมุกแล้วถ้าเป็นหวัดจะแนะนำให้คนไข้ทานหรือพ่นยาในกลุ่มลดน้ำมูกก่อนเครื่องเปลี่ยนแปลงความดันสักครึ่งชั่วโมงครับ ยาที่แนะนำคือยา Pseudoephedrine ขนาดที่แนะนำคือ 30-60 mg ครับ ข้อเสียคือกินแล้วอาจจะมีหัวใจเต้นเร็ว (ผมเองก็เป็นเวลากิน 60 mg ก็ใช้วิธีลดเหลือกินครึ่งเม็ด 30 mg เอาครับ แต่..ยาตัวนี้ไม่มีขายตามร้านขายยาแล้วครับ ผมคิดว่าอาจจะต้องหายาตัวอื่นแทนถ้าคุณไม่สามารถไปหาหมอได้
  6. ผงเกลือแร่แก้ท้องเสีย ส่วนมากบางทีผมก็พกไปครับ แต่หลายๆ ครั้งผมไม่ใช้ เหตุเพราะเราสามารถหาเครื่องดื่มเกลือแร่ หรือชงเกลือแร่เองได้ง่ายๆ จากอุปกรณ์ตามบ้าน สิ่งที่ต้องการก็มีแค่น้ำสะอาดประมาณ 750 ซีซี น้ำตาลสองช้อนโต๊ะ เกลือหนึ่งช้อนโต๊ะแค่นี้ครับ แล้วทำไมจะต้องพกไปให้หนักกระเป๋า
  7. ยาแก้เมารถเมาเรือ อันนี้แล้วแต่คนครับ แต่ผมเองไม่ได้เมารถง่ายขนาดนั้นเลยไม่ได้พกไป แต่ถ้าจะพกเอาจริงๆ คงเอา Dimenhydrinate (ชื่อทางการค้า Dramamine) ไปตัวเดียวครับ กินเม็ดเดียวก็น่าจะหายเมาแล้ว (เพราะผลข้างเคียงคือง่วงมาก ก็จะง่วงหลับไปเลย)

สรุปว่าผมเอาไปแค่นี้ละครับ น่าจะเป็นยาที่จำเป็นจริงๆ และราคาก็ไม่แพงมากในการเตรียมด้วยครับ เป็นยาสามัญๆ ทั่วๆ ไปที่ค่อนข้างปลอดภัยครับ แต่ยังไงก็ตาม ถ้าเวลาไปเที่ยวแล้วไม่สบายขึ้นมาผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดในการหายให้เร็วที่สุดคือการพักผ่อนครับ ยอมเสียสักวันหนึ่งถ้าเริ่มรู้สึกตัวว่าไม่สบาย วันถัดมาก็อาการดีขึ้นเที่ยวต่อได้สนุกแล้วครับ ดีกว่าต้องมาทนกับอาการที่ยังไม่หายๆ กันจนจบทริปครับ และเหนือสิ่งอื่นใด สุขภาพเราสำคัญกว่าการเที่ยวครับ เรากลับมาเที่ยวใหม่อีกรอบก็ได้ แต่บางครั้งเราอาจไม่สามารถเอาสุขภาพเรากลับคืนมาได้นะครับ

หมายเหตุ บทความนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยบริษัทยาใดๆ ครับ

One response to “เปิดกระเป๋ายาเวลาหมอไปเที่ยว เอาอะไรติดตัวไปบ้าง

  1. คุณหมอน่ารักที่สุดเลยค่ะ เขียนเก่งค่ะอ่านสบายๆ
    (เป็นคนไข้คุณหมอด้วยค่ะ)

Leave a Reply

ช่วยแสดงความคิดเห็นด้วยครับ

Please leave a comment.

(c) Copyright 2015 Pawin Numthavaj. Powered by Blogger.