เคยรู้สึกบ้างไหม ว่าบางครั้งเรารู้สึกว่าโทรศัพท์ที่ถืออยู่นั้นสั่น แต่จริงๆ พอหยิบขึ้นมาแล้วมันกลับไม่ได้สั่นเสียหน่อย ถ้าคุณเคย คุณก็ไม่ได้เป็นอยู่เพียงคนเดียวครับ
รายงานจาก BMJ ฉบับล่าสุด (ฉบับฉลองคริสต์มาสเลยมีเปเปอร์สนุกๆ ให้อ่านเล่นๆ) ได้ทำการศึกษาแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขจำนวน 176 คนที่ใช้งานอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่สามารถสั่นได้เกี่ยวกับอาการดังกล่าว (เรียกว่า Phanthom Vibration Syndrome) ผลปรากฎว่า
- 115 ราย (68%, 95%CI 61-75%) รายงานว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เป็นทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน 14% เป็นทุกวัน
- 7% รู้สึกว่ามันค่อนข้างน่ารำคาญ (bothersome) หรือน่ารำคาญมาก (very bothersome)
- ปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อความรู้สึกหลอนนี้คือ อายุมาก, นักเรียนแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้าน, ใส่ไว้ที่กระเป๋าหน้าอก, ใช้โหมดสั่นบ่อยมากหรือตลอดเวลา, ใช้โทรศัพท์มากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน
- 61% ของจำนวนผู้ที่ใช้พยายามทำให้อาการหาย โดยวิธีแก้คือขยับ ย้ายเครื่องหรือเลิกใช้โหมดสั่น
- ผู้วิจัยเชื่อว่าปัญหาอาจเกิดจากการที่สมองวิเคราะห์การรู้สึกสับสน เพราะสมองกำลังอยู่ในโหมด "รอโทรศัพท์" จึงทำให้รู้สึกว่าแรงจากการขยับเสื้อ, กล้ามเนื้อหดตัวเป็นการสั่นแทน
- อาการนี้จะเรียกว่าเป็น "อาการหลอน" (Hallucination) ก็ได้
- สิ่งที่ไม่รู้คือ ทำไมเกิดขึ้นกับเด็กๆ, ทำไมบางที่ของร่างกายถึงเป็นมากกว่า